เมื่อน้องเหมียวเกรี้ยวกราด ดูยังไงว่า “หยอกเล่น” หรือ “สู้ตาย”

เมื่อน้องเหมียวเกรี้ยวกราด ดูยังไงว่า “หยอกเล่น” หรือ “สู้ตาย”

BBC News ไทย / ภาพปก : GETTY IMAGES

เผยแพร่ : 29 มกราคม 2023

ทาสแมวผู้รับใช้เจ้านายหลายตัวในบ้านเดียวกัน ทราบดีว่าการบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างเหล่าน้องเหมียวให้ปรองดองกันมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่บางตัวเกิดไม่กินเส้นกันขึ้นมา อาจนำไปสู่เหตุทะเลาะวิวาทซึ่งต่างฝ่ายใช้กำลังเข้าต่อสู้กันอย่างรุนแรงจนบาดเจ็บสาหัสได้

ล่าสุดทีมนักวิจัยด้านสัตวแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลินคอล์นของสหราชอาณาจักร ร่วมกับมหาวิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์และเภสัชศาสตร์สำหรับสัตว์แห่งสโลวาเกีย (UVLF) ได้ศึกษาวิเคราะห์พฤติกรรมของแมวที่กำลังมีปฏิสัมพันธ์กันโดยละเอียด เพื่อให้ทราบถึงแนวทางที่เจ้าของจะใช้สังเกตได้ว่า พวกมันกำลังหยอกล้อเล่นกันฉันมิตร หรือกำลังโกรธเกรี้ยวแบบเตรียมสู้กันให้ตายไปข้างหนึ่งกันแน่

รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports ฉบับล่าสุด ระบุว่ามีการวิเคราะห์พฤติกรรมแมว 210 ตัว จากวิดีโอที่บันทึกไว้จำนวน 105 คลิป เพื่อมองหาความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องระหว่างพฤติกรรมที่แมวแต่ละตัวแสดงออกมา 6 แบบ กับลักษณะของปฏิสัมพันธ์ระหว่างแมวด้วยกันที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น

GETTY IMAGES

พฤติกรรม 6 แบบที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการแยกแยะลักษณะของปฏิสัมพันธ์ระหว่างแมวด้วยกัน มีดังต่อไปนี้

  • นิ่งเฉย (inactive): แมวอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งโดยไม่เคลื่อนไหวเป็นเวลานาน เช่นทำท่าขดตัว
  • เล่นมวยปล้ำ (wrestling): แมวสัมผัสกับแมวตัวอื่นโดยกอดปล้ำกันไปมา
  • วิ่งไล่กวด (chasing): แมวตัวหนึ่งวิ่งไล่ ในขณะที่อีกตัวหนึ่งวิ่งหนี
  • มีปฏิสัมพันธ์ในแบบอื่น ๆ (other interactive activities): เช่นการเลียขนให้ เดินเข้าหา หรือพองขนบนหลัง
  • ไม่มีปฏิสัมพันธ์ใด ๆ (non-interactive activities): เช่นเลียขนตัวเอง กินอาหาร ดื่มน้ำ
  • ส่งเสียงร้อง (vocalization): เช่นการทำเสียงขู่ฟ่อ ส่งเสียงแบบตวาดดังลั่น หรือร้องเหมียว ๆ ตามปกติ
GETTY IMAGES

ผลวิเคราะห์ทางสถิติพบว่า แมวที่ดูเหมือนกำลังต่อสู้กันอยู่นั้น แท้จริงแล้วมีรูปแบบของปฏิสัมพันธ์เกิดขึ้นได้ 3 ประเภท ซึ่งได้แก่การเล่นหยอกเย้าฉันมิตร (playful), การต่อสู้แบบเป็นปฏิปักษ์กัน (agonistic), และความสัมพันธ์แบบกึ่งเล่นกึ่งต่อสู้ (intermediate)

ก่อนจะเกิดปฏิสัมพันธ์แต่ละรูปแบบ จะมีการแสดงออกทางพฤติกรรมของแมวในบางเรื่องโดดเด่นเป็นพิเศษ ซึ่งหากแมวคู่ฟัดกำลังเล่นหยอกเย้าเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น ส่วนใหญ่พวกมันจะเล่นมวยปล้ำกันโดยแทบไม่มีการส่งเสียงใด ๆ ออกมาเลย ต่างจากแมวที่ต่อสู้เพราะเป็นศัตรูกันจริง ๆ ซึ่งจะมีการใช้เสียงดังอย่างมาก รวมทั้งมีพฤติกรรมหยุดนิ่งสลับกับวิ่งไล่กวด เกิดขึ้นซ้ำไปมาหลายครั้ง

แมวบางคู่มีปฏิสัมพันธ์แบบกึ่งเล่นกึ่งต่อสู้ เนื่องจากพวกมันอาจหงุดหงิดโมโหเพื่อนขึ้นมาได้ หากเกิดความผิดพลาดขึ้นระหว่างการเล่นหยอกเย้านั่นเอง โดยแมวที่มีปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มนี้จะหยุดพักการเล่นเป็นระยะ ๆ เพื่อประเมินสถานการณ์

หากแมวตัวหนึ่งเป็นฝ่ายวิ่งไล่กวดอีกตัวเพียงฝ่ายเดียวโดยตลอด นั่นคือพฤติกรรมที่แสดงถึงการเป็นปฏิปักษ์ แต่ถ้าแมวสองตัวผลัดกันเป็นฝ่ายวิ่งไล่และวิ่งหนี นั่นหมายถึงว่าพวกมันแค่เล่นกันสนุก ๆ เท่านั้น       

โดยทั่วไปแล้วหากเกิดความตึงเครียดระหว่างแมว ๆ ในบ้านเดียวกัน ในตอนแรกพวกมันมักจะหลีกเลี่ยงการต่อสู้แบบต้องสัมผัสตัวกันโดยตรง เช่นการยื่นอุ้งเท้าออกไปตบ แต่หากจะเกิดเหตุทะเลาะวิวาทขึ้นมาอย่างจริงจัง การส่งเสียงขู่คำรามจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ที่สำคัญที่สุด


ดูเรื่องต้นฉบับ

แชร์บทความนี้...

Vetbasket

คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้ด้วย...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *