เซลล์สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีกลไก “สัมผัสที่หก” แอบแฝงอยู่

เซลล์สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีกลไก “สัมผัสที่หก” แอบแฝงอยู่

BBC News ไทย / ภาพปก : GETTY IMAGES

เผยแพร่ : 26 กุมภาพันธ์ 2023

ประสาทสัมผัสพิเศษที่นอกเหนือไปจากการมองเห็น, การได้ยิน, การดมกลิ่น, การลิ้มรส, และการสัมผัสจับต้อง หรือที่เรียกกันว่า “ซิกซ์เซนส์” (sixth sense) นั้น ทำให้มนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ สามารถรับรู้ถึงพลังงานลึกลับบางอย่าง ซึ่งในหลายกรณีพลังงานที่ว่านี้ก็คือความเคลื่อนไหวของสนามแม่เหล็กโลกนั่นเอง

ล่าสุดทีมนักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์และมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ของสหราชอาณาจักร ตีพิมพ์ผลการศึกษาเกี่ยวกับ “สัมผัสที่หก” ลงในวารสาร Nature โดยระบุว่าเซลล์ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีกลไกระดับโมเลกุลที่ตอบสนองต่อพลังแม่เหล็ก ซึ่งอาจช่วยให้เซลล์นั้นมีความสามารถพิเศษในการรับรู้สิ่งที่ประสาทสัมผัสทั้งห้าทำไม่ได้

ตามปกติแล้วมีสัตว์เพียงบางชนิดเท่านั้นที่รับรู้ถึงพลังจากสนามแม่เหล็กโลก เช่นนกหรือวาฬที่อพยพย้ายถิ่นเป็นระยะทางไกลหลายพันกิโลเมตร รวมไปถึงปลา, สัตว์เลื้อยคลาน, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในป่าลึกหรือแม้แต่แบคทีเรีย ซึ่งพวกมันใช้โมเลกุลในเซลล์จอประสาทตาที่เรียกว่า “คริปโตโครม” (Cryptochrome) เป็นเครื่องมือสื่อสัมผัสที่หก เพื่อนำร่องค้นหาทิศทางหรือรับรู้ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในธรรมชาติได้

การทดลองครั้งล่าสุดกับแมลงหวี่ (fruit fly) ในห้องปฏิบัติการ ชี้ว่าเซลล์ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดรวมทั้งคนเราก็มีศักยภาพในการรับรู้ด้วยสัมผัสที่หกอยู่เช่นกัน โดยพบว่ามีโมเลกุลอีกชนิดหนึ่งชื่อว่า “ฟลาวิน อะดีนีน ไดนิวคลีโอไทด์” (Flavin Adenine Dinucleotide) หรือเอฟเอดี (FAD) สามารถเป็นเครื่องมือสื่อสัมผัสที่หกภายในเซลล์ได้เช่นเดียวกับสารคริปโตโครม

กลไกการทำงานของโมเลกุลทั้งสองชนิดเป็นไปตามหลักความพัวพันเชิงควอนตัม (quantum entanglement) โดยแสงหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะกระตุ้นให้อิเล็กตรอนภายในโมเลกุลดังกล่าว เข้าครอบครองสถานะการหมุนหรือสปินแบบใดแบบหนึ่งจากที่มีอยู่ 2 สถานะด้วยกัน ทำให้เกิดกระแสประสาทของสัมผัสที่หก เนื่องจากเซลล์ตอบสนองต่อความเคลื่อนไหวของสนามแม่เหล็กโลก

GETTY IMAGES

ทีมผู้วิจัยพบว่า สารเอฟเอดีซึ่งมีอยู่ในเซลล์ทุกชนิดของสิ่งมีชีวิตในปริมาณที่มากน้อยแตกต่างกันไป สามารถสื่อสัมผัสที่หกได้ด้วยตัวของมันเอง แต่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากจับคู่ทำปฏิกิริยากับสารคริปโตโครม

อย่างไรก็ตามการค้นพบนี้ไม่ได้หมายความว่า มนุษย์และสัตว์ทุกชนิดจะสามารถมีสัมผัสที่หกในระดับที่รับรู้ได้อย่างชัดเจนเหมือนกับฝูงนกอพยพ เพราะร่างกายยังขาดสารคริปโตโครมที่จะมาช่วยทำปฏิกิริยาเสริมการรับรู้ด้วยซิกซ์เซนส์ให้แรงขึ้นนั่นเอง

ทีมผู้วิจัยกล่าวสรุปว่า “แม้ผลการศึกษาของเราจะยังไม่สามารถทำให้มนุษย์ใช้สัมผัสที่หกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อาจใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาเทคนิคทางการแพทย์และพันธุศาสตร์ อย่างเช่นการควบคุมสนามแม่เหล็กเพื่อเปิดสวิตช์หรือปิดสวิตช์การทำงานของยีนตามที่ต้องการ”


ดูเรื่องต้นฉบับ

แชร์บทความนี้...

Vetbasket

คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้ด้วย...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *