ค้นพบ “ยาอายุวัฒนะ” สำหรับหมาใหญ่-น้องแมว ชีวิตยืนยาวขึ้นอีกนับสิบปี

ค้นพบ “ยาอายุวัฒนะ” สำหรับหมาใหญ่-น้องแมว ชีวิตยืนยาวขึ้นอีกนับสิบปี

BBC News ไทย / ภาพปก : GETTY IMAGES

เผยแพร่ : 3 ธันวาคม 2023

ใคร ๆ ก็อยากให้สัตว์เลี้ยงแสนรัก ไม่ว่าจะเป็นน้องหมาหรือน้องแมว มีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนยาว เพื่อที่จะอยู่เคียงข้างมนุษย์ผู้เป็นเจ้าของไปได้นาน ๆ แทนที่พวกมันจะใช้ชีวิตสร้างความสุขรื่นเริงให้กับคนเราได้เพียงสิบกว่าปีเท่านั้น

ล่าสุดมีข่าวดีสำหรับทาสแมวและคนรักสุนัข โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เลี้ยงน้องหมาพันธุ์ใหญ่ซึ่งมักจะมีอายุสั้นกว่าสุนัขที่ตัวเล็กเป็นอย่างมาก โดยวงการยาและเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง ประกาศการค้นพบ “ยาอายุวัฒนะ” ที่ปรับสมดุลฮอร์โมนจนช่วยยับยั้งกระบวนการแก่ชราของเซลล์ในหมาใหญ่ รวมทั้งค้นพบยาฉีดที่ป้องกันและรักษาโรคไตเรื้อรัง ซึ่งเป็นตัวการคร่าชีวิตแมวเหมียวอันดับต้น ๆ อีกด้วย

ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตวแพทยศาสตร์ระบุว่า ยาอายุวัฒนะดังกล่าวที่มีชื่อว่า “ลอย” (LOY) จะช่วยให้น้องหมาพันธุ์ใหญ่มีชีวิตยืนยาวขึ้นได้อีกนับสิบปี ส่วนยาฉีด “เอม” (AIM) สำหรับน้องเหมียวนั้น สามารถจะทำให้แมวมีอายุยืนขึ้นสองเท่า จนถึงวัย 30 ปี ได้เลยทีเดียว

บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Loyal for Dogs ในสหรัฐฯ ประกาศว่าได้คิดค้นและพัฒนายา LOY-001, LOY-002, และ LOY-003 ขึ้น เพื่อยืดอายุขัยของสุนัขทุกช่วงวัยในเกือบจะทุกสายพันธุ์ โดยคณะกรรมการอาหารและยาหรือเอฟดีเอ (FDA) ของสหรัฐฯ ได้อนุมัติให้ทางบริษัทดำเนินการพัฒนาและทดลองระดับคลินิกกับยา LOY-001 ต่อไปได้ หลังพิจารณาข้อมูลเบื้องต้นแล้วพบว่า ยาดังกล่าวมีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอที่บ่งชี้ว่าน่าจะมีประสิทธิภาพจริง

GETTY IMAGES

สำหรับยา LOY-001 นั้น เป็นยาฉีดที่พัฒนาขึ้นรุ่นแรกเพื่อยืดอายุขัยให้กับสุนัขตัวใหญ่วัย 7 ปีขึ้นไป ซึ่งมีน้ำหนักอย่างต่ำ 18 กิโลกรัม โดยสัตวแพทย์จะเป็นผู้ฉีดยานี้ให้ทุก 3-6 เดือน ส่วนยา LOY-002 และ LOY-003 นั้น จะเป็นยาเม็ดชนิดที่ใช้กินเป็นประจำทุกวัน โดย LOY-003 นั้นพัฒนาขึ้นเพื่อสุนัขแก่เกือบทุกสายพันธุ์ ยกเว้นน้องหมาที่มีขนาดเล็กจิ๋วมากเป็นพิเศษ

ยา LOY ทุกรูปแบบ ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตชนิดหนึ่ง ชื่อว่า Insulin Growth Factor-1 (IGF-1) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีอิทธิพลต่อความชราภาพและอายุขัยในสัตว์หลายชนิด รวมทั้งหนอนตัวกลม แมลงหวี่ และหนูทดลองด้วย โดยก่อนหน้านี้ทีมผู้วิจัยพบว่า การมี IGF-1 ในปริมาณสูง อาจเร่งให้ร่างกายของสุนัขแก่ชราลงได้อย่างรวดเร็ว

ในกรณีของสุนัขพันธุ์ใหญ่ พวกมันจะมีปริมาณของ IGF-1 เพิ่มสูงขึ้นได้มากเมื่อแก่ตัวลง โดยอาจมีปริมาณสูงกว่าน้องหมาพันธุ์เล็กได้ถึง 28 เท่า ส่งผลให้สุนัขพันธุ์ใหญ่ตัวโตและมีน้ำหนักมาก แต่เซลล์ร่างกายก็จะแก่ชราไวตามไปด้วย ทำให้หมาใหญ่อย่างเกรทเดนมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 7-10 ปี ในขณะที่หมาเล็กอย่างชิวาวามีอายุยืนยาวกว่าโดยเฉลี่ยที่ 14-16 ปี

ผลวิจัยกับสุนัขพันธุ์ใหญ่ 450 ตัว ของบริษัท Loyal for Dogs ที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ชี้ว่าสุนัขที่มีฮอร์โมนอินซูลินในระดับต่ำ จะแก่ช้าและสุขภาพดีจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเมื่อเริ่มสูงวัย โดยทางบริษัทคาดว่าจะได้รับการอนุมัติจากเอฟดีเอให้วางจำหน่ายยา LOY-001 ในท้องตลาดได้ ภายในปี 2026

GETTY IMAGES

ส่วนยาฉีด “เอม” (AIM) ซึ่งเป็นยาอายุวัฒนะของแมวเหมียวที่ตกเป็นข่าวเกรียวกราวก่อนหน้านี้ พัฒนาขึ้นโดยศาสตราจารย์ โทรุ มิยาซากิ นักภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยโตเกียวของญี่ปุ่น เพื่อป้องกันและรักษาโรคไตเรื้อรังที่พบได้บ่อยในน้องแมวถึง 1 ใน 3 ทั้งยังเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้ทาสแมวต้องเสียน้ำตาเพราะน้องเหมียวด่วนจากไปก่อนวัยอันควร

โดยทั่วไปแล้ว โรคไตเรื้อรังในแมวมักแสดงอาการเมื่อมันมีอายุได้ราว 10 ปี เนื่องจากความชราทำให้ไตมีประสิทธิภาพในการกรองของเสียลดลง แต่แมวที่อายุน้อยก็สามารถเป็นโรคไตได้ เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ เช่นชนิดอาหารและลักษณะของภาชนะใส่น้ำรวมทั้งอุปนิสัยของแมว ทำให้พวกมันมักจะกินน้ำน้อยเกินไปในแต่ละวัน

แมวที่เป็นโรคไตจะกินน้ำบ่อยขึ้นจนผิดสังเกต ปัสสาวะในปริมาณมากหรือไม่ปัสสาวะเลย และบางครั้งอาจมีเลือดปนออกมาในปัสสาวะได้ด้วย แมวจะมีน้ำหนักตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง มีแผลในช่องปากคล้ายเป็นร้อนใน และมีลมหายใจที่เหม็นผิดปกติ จนในที่สุดร่างกายจะทรุดโทรมและส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ ทำให้แมวที่ป่วยโรคไตมีอายุไม่ยืนยาวไปถึง 15 ปี อันเป็นอายุขัยเฉลี่ยของแมวส่วนใหญ่ในปัจจุบัน

ในกรณีนี้ยาฉีด AIM (Apoptosis Inhibitor of Macrophage) ซึ่งเป็นโมเลกุลโปรตีนที่พบในเลือดของสัตว์หลายชนิด จะทำหน้าที่ยับยั้งการตายของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด “มาโครฟาจ” ซึ่งทำหน้าที่กัดกินขจัดเซลล์ที่ตายและลอกออกจากผนังหลอดไตฝอยเพราะความเสื่อมของอวัยวะ ทำให้หลอดไตฝอยไม่อุดตันจนแมวเกิดอาการไตวายเฉียบพลันและตายได้

ศ.มิยาซากิพบว่า โมเลกุล AIM ในเลือดของแมวและสัตว์ตระกูลแมวตัวใหญ่อย่างเสือและสิงโต มีความแตกต่างจากของคนและหนูทดลอง โดยมีโครงสร้างโมเลกุลขนาดใหญ่และซับซ้อน จนไม่สามารถเคลื่อนผ่านจากกระแสเลือดเข้าสู่ปัสสาวะในไต เพื่อส่งเสริมการทำงานของเซลล์มาโครฟาจได้ ทำให้แมวเหมียวมีแนวโน้มจะล้มป่วยและตายลงด้วยโรคไตเรื้อรังได้ง่าย

ด้วยหลักการนี้ ศ.มิยาซากิจึงพัฒนาโมเลกุล AIM ที่มีโครงสร้างเหมาะสม เพื่อฉีดเป็นทั้งวัคซีนป้องกันและยารักษาโรคไตในแมวทุกวัย ซึ่งผลการทดสอบประสิทธิภาพเบื้องต้นพบว่า แมวที่ป่วยร่อแร่และน่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกเพียงสัปดาห์เดียว กลับมีอาการดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์

ปัจจุบันกำลังมีการทดลองใช้ยาฉีด AIM ในระดับคลินิก และคาดว่าจะได้รับการอนุมัติให้วางจำหน่ายในท้องตลาดได้ ภายในปี 2025 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าในไม่ช้า อายุขัยของน้องเหมียวที่รักจะยืนยาวขึ้นกว่าเดิมถึงสองเท่า จนสามารถอยู่เป็นเจ้านายของเหล่าบ่าวทาสไปได้นานถึงสามทศวรรษ ซึ่งเมื่อเทียบกับมนุษย์แล้วก็เหมือนกับการมีอายุยืนถึง 150 ปีเลยทีเดียว


ดูเรื่องต้นฉบับ

แชร์บทความนี้...

Vetbasket

คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้ด้วย...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *