3 ปัญหาสำคัญระหว่างเจ้าของสัตว์เลี้ยงกับสัตวแพทย์

3 ปัญหาสำคัญระหว่างเจ้าของสัตว์เลี้ยงกับสัตวแพทย์

สำหรับคนที่เลี้ยงสัตว์แล้วนั้นคงจะได้พาสัตว์เลี้ยงของตนไปหาสัตวแพทย์แน่ๆ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง บางคนพาไปหาตั้งแต่วันแรกที่ได้สัตว์เลี้ยงมาเลยก็มี ไม่ว่าจะเป็นการพาไปตรวจสุขภาพ ทำวัคซีน ถ่ายพยาธิ กำจัดเห็บหมัด หรือตอนที่สัตว์เลี้ยงเจ็บป่วย ดังนั้นการพูดคุย พบปะกับสัตวแพทย์จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และคงไม่ใช่เพียงแค่ครั้งเดียวอย่างแน่นอน…

จากการทำงานที่ผ่านมาทั้งโรงพยาบาลสัตว์ มูลนิธิ และคลินิกของตัวเอง ได้พบเจอกับเจ้าของสัตว์มากมาย ต่างความคิดต่างลักษณะนิสัย ทำให้มีประสบการณ์ในการพูดคุยกับเจ้าของสัตว์เลี้ยงมาพอสมควร อีกทั้งยังเคยเป็นเจ้าของที่พาสัตว์เลี้ยงของตัวเองไปหาสัตวแพทย์ท่านอื่นเพื่อรักษาด้วยหลายครั้ง ดังนั้นจึงได้มุมมองทั้งความเป็นหมอและมุมมองของเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่อยากนำมาแบ่งปัน ซึ่งอาจจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันมากขึ้นและลดการทะเลาะเบาะแว้งได้

ปัจจุบันมีปัญหามากมายที่เกิดขึ้นระหว่างเจ้าของสัตว์เลี้ยงและสัตวแพทย์ที่ล้วนเกิดจากความไม่เข้าใจกัน ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้แบ่งปัญหาหลักๆ ได้ 3 ข้อคือ

  1. การสื่อสาร
  2. ค่ารักษา
  3. นิสัยส่วนตัวของเจ้าของสัตว์เลี้ยงและสัตวแพทย์

3 ปัญหาสำคัญระหว่างเจ้าของสัตว์เลี้ยงกับสัตวแพทย์

1.การสื่อสาร

การสื่อสารระหว่างเจ้าของสัตว์เลี้ยงกับสัตวแพทย์นับว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก แค่สื่อสารผิดชีวิตก็เปลี่ยน ทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่หรือทำให้เรื่องใหญ่กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นไปอีก หมอที่ประสบการณ์ยังไม่มากมักมีปัญหาเรื่องการสื่อสารกับเจ้าของเคส (เจ้าของสัตว์เลี้ยง)อยู่เป็นประจำ จำได้ว่าตอนทำงานงานใหม่ๆ หมอโทรไปแจ้งผลเลือดของแมวตัวนึงกับเจ้าของเคส ซึ่งผลเลือดของแมวตัวนั้นออกมาแย่มาก พอแจ้งเสร็จเจ้าของเคสถามหมอว่า “มีโอกาสรอดไหมคะ” ด้วยความที่ประสบการณ์น้อยเลยพูดไปว่า “ไม่ครับ” แล้วเสียงโทรศัพท์ก็เงียบไป ปรากฏว่าเจ้าของเคสเป็นลมครับยังดีที่ไม่เป็นอะไรมาก จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดจากการสื่อสาร โดยที่หมออาจจะพูดอะไรที่ทำให้ดูนิ่มนวลกว่านี้ได้ เช่น “โอกาสก็ยังมีครับ แต่ผลเลือดบ่งชี้ว่าเค้าเป็นค่อนข้างมากดังนั้นเราคงต้องติดตามอาการวันต่อวันครับ” อะไรแบบนี้เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีปัญหาจากการสื่อสารอย่างอื่นอีกที่อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เกิดการเข้าใจผิดหรือทะเลาะกันของทั้งสองฝ่ายได้ เช่นการที่เจ้าของสัตว์อยากรู้ว่าสัตว์เลี้ยงของตัวเองป่วยเป็นอะไรกันแน่ แต่สัตวแพทย์ยังตอบไม่ได้ตอนนี้เพราะยังรอผลตรวจบางอย่างอยู่ ทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยให้ชี้ชัดลงไปได้ จึงทำให้เกิดความสับสนกับเจ้าของสัตว์ ปัญหาอาจลามไปถึงขั้นที่ว่า “ทำไมหมอรักษาไม่หาย หมอเลี้ยงไข้หรือเปล่า คงอยากได้เงินมากๆ ซินะ” หมอที่ยังมีประสบการณ์ไม่มากพออาจจะไม่สามารถอธิบายให้เข้าของสัตว์เลี้ยงเข้าใจได้ว่าการที่สัตว์ป่วยยังไม่หายเพราะอะไร หรือมีสาเหตุจากอะไรที่ยังไม่สามารถวินิจฉัยชี้ชัดลงไปได้ สุดท้ายสถานการณ์อาจจะบานปลายจนถึงขั้นย้ายไปรักษาที่อื่นแล้วไม่กลับมารักษาที่นี่อีกเลย ซึ่งอันที่จริงแล้วสัตว์ป่วยตัวนี้อาจจะไม่ได้เป็นอะไรร้ายแรงเลย แต่แค่หมอไม่สามารถสื่อสารให้เจ้าของสัตว์เข้าใจได้แค่นั้นเอง

2.ค่ารักษาพยาบาล

ราคาค่ารักษาเป็นปัจจัยที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงบางส่วนให้ความสำคัญไม่น้อย เมื่อลองค้นหาดูจาก Google คำที่ติดอันดับต้นๆ ในการค้นหาคือรักษาสัตว์ราคาถูกหรือทำหมันราคาถูก ซึ่งอยากบอกว่าอันที่จริงก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดอะไร เพราะต่างคนต่างก็มีเหตุผลของตัวเอง และที่รักษาสัตว์ราคาถูกและดีก็มีไม่น้อย แต่ที่ไม่ดีหรือคนรักษาไม่ใช่หมอจริงๆ ก็มีมากเช่นกัน

ในมุมของเจ้าของสัตว์นั้น ถ้าเรามีทุนทรัพย์ที่จะจ่ายและยอมที่จะจ่ายให้กับสัตว์เลี้ยงของตัวเองแล้ว เราก็คงจะหาที่รักษาสัตว์ที่คิดว่าดีที่สุดโดยไม่สนว่าราคาจะเป็นเท่าไหร่ เพราะอยากให้สัตว์เลี้ยงของตัวเองได้รับการรักษาที่ดีที่สุด แต่สำหรับคนที่อยากรักษาแต่ไม่พร้อมด้านทุนทรัพย์ก็คงต้องหาที่ที่ราคาไม่สูงจนเกินไป ซึ่งแน่นอนว่าเจ้าของสัตว์ส่วนนี้ก็มีความรักสัตว์เช่นกัน ดังนั้นในมุมของสัตวแพทย์แล้วเราก็ต้องทำการรักษาให้ดีที่สุดแม้ว่าอาจจะต้องอยู่ในงบประมาณที่จำกัด แต่บางทีถ้าเจ้าของสัตว์เกริ่นเรื่องค่าใช้จ่ายมาก่อนเราก็อาจจะต้องมีการประเมินค่าใช้จ่ายขั้นต้นไว้แล้วถ้าเจ้าของตกลงก็เริ่มทำการรักษา เจ้าของบางคนอาจจะบอกมาเลยว่าตัวเค้ามีงบอยู่เท่านี้ขอให้หมอรักษาอยู่ในงบได้ไหม อันนี้หมอคิดว่าดีมากเพราะจะได้ไม่ต้องมาผิดใจกันทีหลังเวลาคิดเงินแล้วเงินไม่พอ เพราะเจ้าของบางคนเวลาเงินไม่พอ (หรืออาจทำให้ไม่พอ) จะขอตัดนู่นตัดนี่ออกเช่นหมอเอายากินตัวนี้ตัวนั้นออกได้ไหม แบบนี้หมอส่วนมากจะไม่ค่อยพอใจนักเพราะนอกจากกลัวว่าสัตว์จะไม่หายป่วยแล้วยาบางตัวก็ไม่สามารถเอากลับคืนได้อีกด้วย ในบางกรณีเจ้าของสัตว์ตัดสินใจทิ้งสัตว์ไว้ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกเพราะไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา(หรืออาจจะไม่อยากจ่าย) แบบนี้หมอจะไม่ชอบมากที่สุด เพราะนอกจากจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาแล้วยังต้องรับผิดชอบชีวิตของสัตว์ตัวนั้นอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีคุณหมอบางท่านใช้กฎหมายทารุณกรรมสัตว์มาแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าของสัตว์เลี้ยงในกรณีนี้ด้วย (https://pantip.com/topic/36525592)

(พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. ๒๕๕๗ http://www.vet.cmu.ac.th/web/file/Act-2.pdf)

ในมุมมองของหมอเจ้าของสัตว์ควรพูดคุยกับสัตวแพทย์ให้เข้าใจ และควรแสดงความจริงใจให้คุณหมอเห็นว่าเราไม่ได้ต้องการเบี้ยวค่ารักษา แต่ตอนนี้เรามีปัญหาไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้เราขอผ่อนชำระได้ไหมเดือนละเท่าไหร่ก็ตามที่ตกลงกัน และควรต้องเป็นฝ่ายติดต่อไปหาคุณหมอก่อนถึงกำหนดชำระด้วยเพื่อยืนยันว่าเราจะจ่ายให้แน่นอน แบบนี้จะเป็นการเพิ่มเครดิตให้กับตัวเจ้าของเองด้วย ส่วนตัวเคยเจอมาทั้งหมดแล้ว ทั้งสัญญาว่าจะมาจ่ายต้นเดือนตอนเงินเดือนออกแล้วหายต๋อม คนดีที่ทำตามสัญญา คนที่ขอผ่อนจ่าย หรือแม้กระทั่งคนที่ทิ้งสัตว์ไว้ที่คลินิก หลายคนคงเคยสงสัยว่าแล้วโรงพยาบาลหรือคลินิกจะทำอย่างไรกับสัตว์ที่โดนทิ้งไว้ ส่วนมากคงคิดว่า เอ๊ย…อยู่กับหมออ่ะดีแล้วหมอใจดียังไงก็ต้องเลี้ยงไว้ คิดดูนะครับถ้าเป็นแบบนี้ป่านนี้โรงพยาบาลหรือคลินิกคงมีสุนัขหรือแมวอยู่เต็มไปหมด แล้วที่จริงหมอเค้ามีวิธีจัดการอย่างไรกัน

อย่างแรกหมอก็คือหมอครับ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็คงเลี้ยงไว้เอง แต่ถ้าเว้ยเฮ้ย!…มันเยอะเกินไปแล้ว อันนี้ก็คงต้องพยายามหาบ้านให้ ได้บ้างไม่ได้บ้าง ตัวที่หาไม่ได้ก็คงต้องเลี้ยงไว้เอง แต่อย่างสุดท้าย (ไม่รู้มีที่ไหนทำบ้าง) ก็คือการฉีดยาให้หลับ (เสียชีวิต)ไปหรือที่เรียกว่าการ Put to Sleep นอกจากนี้แล้วสัตว์บางตัวที่ถูกทิ้งก็อาจจะตรอมใจถึงขั้นเสียชีวิตเองก็มี อันนี้เรื่องจริงไม่ได้โม้ เพราะเจอมากับตัวแล้ว จากที่รักษาแล้วอาการดีขึ้นตามลำดับแต่พอเจ้าของทิ้งไปไม่มาเยี่ยม นานๆ เข้าอาการป่วยก็ทรุดลงจนสัตว์เสียชีวิตในที่สุด เห็นไหมครับถ้ามีปัญหาเรื่องค่ารักษาควรคุยกับหมอให้เข้าใจ และอย่าตัดสินใจทิ้งสัตว์ไว้เลยครับเพราะอย่างไรมันก็จบไม่สวยแน่นอน

3.นิสัยส่วนตัวของเจ้าของสัตว์เลี้ยงและหมอ

ปัญหานี้ค่อนข้างแก้ยากเพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัว บางคนอารมณ์ร้อน บางคนโกรธแล้วไม่มีเหตุผล เป็นกันได้หมดทั้งหมอและเจ้าของสัตว์ โดยเฉพาะหมอบางคนมีอีโก้สูง มั่นใจในตัวเองมากๆ เอาตัวเองเป็นหลัก บางครั้งก็เป็นปัญหาในการคุยกับเข้าของสัตว์เหมือนกัน ดังนั้นแนะนำว่าเมื่อเริ่มรู้สึกว่ามีอารมณ์โกรธหรือหงุดหงิดควรเอาตัวเองออกมาจากบริเวณนั้นก่อน หาเหตุผลอะไรก็ได้พออารมณ์เย็นลงแล้วค่อยกลับไปคุยกันใหม่อาจจะทำให้สถานการณ์ขุ่นมัวนั้นดีขึ้นได้

ทั้ง 3 ข้อนี้เป็นปัญหาหลักๆ ที่พบเจอได้บ่อยระหว่างเจ้าของสัตว์กับสัตวแพทย์ ไม่ว่ายังไงก็คงหลีกไม่พ้น ดังนั้นวิธีการที่สามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้คือการลองปรับมุมมองความคิดให้มองในมุมของอีกฝั่ง เพราะภาพความคิดจากอีกฝั่งอาจจะต่างกับภาพความคิดที่เราเห็นจากฝั่งนี้อย่างสิ้นเชิงเลยก็ได้ แล้วเราก็จะเข้าใจกันและกันมากขึ้น ปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งกันก็จะลดลง

“ทุกข์เราทุกข์เขาไม่เท่ากัน”

“ขอให้คำพูดนี้เป็นเครื่องย้ำเตือนว่าบางทีเรื่องเล็กน้อยของเรา

อาจจะเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนอื่นก็ได้”

-Dr.K-

ขอบคุณเรื่องราวดีๆ จาก facebook ของ Pro Chain-Saharath

แชร์บทความนี้...

Vetbasket

คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้ด้วย...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *