แมวไม่ใช่สัตว์เย็นชา แต่ผูกพันกับเจ้าของเหนียวแน่นไม่แพ้สุนัข-bbcไทย

แมวไม่ใช่สัตว์เย็นชา แต่ผูกพันกับเจ้าของเหนียวแน่นไม่แพ้สุนัข-bbcไทย

เมื่อพูดถึงสัตว์เลี้ยงยอดนิยมอย่างหมากับแมว หลายคนมักจะมองว่าหมามีความจงรักภักดีและผูกพันกับเจ้าของมากกว่า ในขณะที่แมวนั้นชอบทำตัวห่างเหินเย็นชา และไม่สู้จะมีความรู้สึกผูกพันกับคนเลี้ยงเท่าใดนัก

แต่ความเชื่อนี้กำลังถูกท้าทายด้วยผลการวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยออริกอนสเตต (Oregon State University) ของสหรัฐฯ ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Current Biology โดยงานวิจัยชี้ว่าแมวส่วนใหญ่มีความรู้สึกผูกพันกับเจ้าของผู้เลี้ยงดูแลอย่างเหนียวแน่น ไม่ต่างไปจากพฤติกรรมมาตรฐานที่พบในสุนัขหรือทารก

GETTY IMAGES

มีการทดลองให้ลูกแมว 70 ตัวและเจ้าของเข้าร่วมกิจกรรมที่ใช้เวลาครั้งละ 6 นาที โดยใน 2 นาทีแรกจะให้ลูกแมวและเจ้าของอยู่ด้วยกันในห้องที่พวกเขาไม่เคยเข้าไปมาก่อน จากนั้นจะให้เจ้าของออกจากห้องไปโดยทิ้งลูกแมวไว้ตามลำพัง 2 นาที ก่อนที่จะกลับเข้าห้องมาอยู่กับลูกแมวอีกครั้งเป็นเวลา 2 นาทีเช่นเดิม

ผลปรากฏว่าลูกแมวถึง 2 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่าง มีพฤติกรรมระหว่างการทดลองที่แสดงถึง “ความผูกพันแบบรู้สึกมั่นคงปลอดภัย” (secure attachment) โดยพวกมันจะมีอาการเครียดและกระสับกระส่ายลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อได้เจอหน้าเจ้าของที่กลับเข้าห้องมาอีกครั้ง หลังจากนั้นลูกแมวจะเริ่มออกสำรวจไปรอบ ๆ ห้อง และกลับมาหาเจ้าของเป็นระยะ ซึ่งเป็นลักษณะของความมั่นใจและความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัยเมื่อมีเจ้าของอยู่ด้วย

AFP/GETTY IMAGES

ดร. คริสทิน ไวทาล ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า “แมวที่รู้สึกกลัวและไม่มั่นใจจะวิ่งหนี หลบซ่อนตัว หรือทำเป็นเมินเฉยไม่สนใจคน ทั้งที่จริงแล้วแมวส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะเข้าหาและรู้สึกผูกพันกับเจ้าของมากกว่าที่เราคิด”

“พวกมันมองว่าคนเลี้ยงเป็นผู้ปกป้องคุ้มภัย และจะรู้สึกมั่นใจในการทำสิ่งต่าง ๆ เมื่อมีเจ้าของอยู่ใกล้ ๆ ซึ่งเป็นแบบแผนทางจิตวิทยาที่เกิดขึ้นกับสุนัขและเด็กเล็กด้วยเช่นกัน”

ทีมผู้วิจัยทำการทดลองซ้ำแบบเดิมกับแมวที่โตเต็มวัยอายุ 1 ปีขึ้นไป จำนวน 38 ตัว แล้วพบว่าแมววัยผู้ใหญ่ที่แสดงความผูกพันแบบรู้สึกมั่นคงปลอดภัยกับเจ้าของ ยังคงมีอยู่เป็นจำนวน 2 ใน 3 เท่าเดิม

REUTERS

นอกจากนี้ ยังมีการนำลูกแมวที่ไม่แสดงพฤติกรรมความผูกพันแบบดังกล่าวจากการทดลองครั้งแรก มาเข้ารับการฝึกฝนให้เรียนรู้การสร้างความสัมพันธ์กับมนุษย์เป็นเวลา 6 สัปดาห์ แต่ก็พบว่าไม่มีความเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมเกิดขึ้นหลังจากนั้น

“ปัจจัยที่กำหนดรูปแบบของความผูกพันระหว่างแมวกับเจ้าของนั้น น่าจะมาจากความสัมพันธ์ในช่วงต้นของการเลี้ยงดู รวมทั้งปัจจัยอย่างอารมณ์และลักษณะนิสัยที่สืบทอดมาทางสายเลือดของแมว มากกว่าจะขึ้นอยู่กับการฝึกฝนและสั่งสอนทักษะทางสังคมให้ในภายหลัง” ดร. ไวทาลกล่าว

“เมื่อความผูกพันในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว มันจะคงอยู่ต่อไปเป็นเวลานาน ยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้”

แชร์บทความนี้...

Vetbasket

คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้ด้วย...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *