หนอนพยาธิลำไส้ในสัตว์เลี้ยง

หนอนพยาธิลำไส้ในสัตว์เลี้ยง

พยาธิในสำไส้สัตว์เลี้ยงนั้นถือเป็นปัญหาที่สำคัญและสามารถพบได้บ่อย แม้ว่าบางทีสัตว์เลี้ยงของเราจะไม่ได้แสดงอาการรุนแรงอะไร แต่ถ้าปล่อยไว้นานหรือมีปริมาณพยาธิมีจำนวนมากขึ้น มันก็อาจจะทำให้เกิดอาการรุนแรงขึ้นมาได้ และที่สำคัญพยาธิบางชนิดสามารถติดต่อสู่คนได้ด้วย

สัตว์ที่มีปัญหาเรื่องพยาธิภายในร่างกายนั้นจะแสดงอาการได้หลากหลายขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุ ภาวะโภชนาการ ปริมาณปรสิต และระยะเวลาที่ติดเชื้อ เป็นต้น อาการที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ ท้องเสีย ส่วนอาการอื่นๆ ที่พบได้ เช่น เบื่ออาหาร อ่อนแรง ไอ และช่องท้องขยายใหญ่ อย่างไรก็ตามสัตว์บางตัวแม้จะสะสมพยาธิไว้จำนวนมากแต่อาจไม่แสดงอาการ และกลายเป็นตัวแพร่กระจายเชื้อให้แก่สัตว์ตัวอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกัน ส่วนมากแล้วปรสิตจะก่อปัญหาในสัตว์อายุน้อยและสัตว์อายุมากเป็นหลัก ซึ่งการมีปรสิตส่งผลให้ร่างกายทรุดโทรม และทำให้มีโอกาสเป็นโรคอื่นๆ ตามมาได้ง่ายขึ้น เช่นกรณีลูกสุนัขมีปัญหาของโรคลำไส้อักเสบติดต่อจากเชื้อพาร์โวไวรัสร่วมกับการมีพยาธิอยู่ด้วย

หนอนพยาธิลำไส้ที่พบได้บ่อยในสัตว์เลี้ยง

พยาธิตัวแบน (Tapeworms)

พยาธิกลุ่มนี้ที่พบได้บ่อยที่สุด คือพยาธิตืดหมัด หรือพยาธิตืดแตงกวา (Dipylidium caninum) พยาธิชนิดนี้ติดต่อได้ทั้งสุนัขและแมวรวมถึงคนด้วย

สุนัขและแมวจะติดพยาธิชนิดนี้จากการกลืนตัวหมัดที่มีตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้เข้าไป โดยเริ่มจากหมัดได้รับตัวอ่อนพยาธิมาตั้งแต่ยังเป็นหนอนตัวอ่อน ซึ่งไปแทะกินไข่ของพยาธิที่ปล่อยออกมากับอุจจาระของสุนัขและแมวที่มีพยาธิตัวเต็มวัยอยู่ ตัวอ่อนใช้เวลาพัฒนาอยู่ในหมัด 18-30 วัน ในกรณีของแมวอาจติดได้จากการกินหนูที่มีพยาธิได้ด้วย

สัตว์ที่มีความเสี่ยง สุนัขและแมวที่พบว่ามีปัญหาเรื่องหมัด หรือพบร่องรอยของหมัด เช่น ขี้หมัด แพ้น้ำลายหมัด เป็นต้น

อาการ โดยปกติแล้วพยาธิชนิดนี้มักไม่ก่อความเจ็บป่วยในสุนัขและแมวที่รุนแรง สัตว์ส่วนมากมักไม่แสดงอาการ แต่ในสัตว์บางตัวแสดงอาการคันทวารหนัก (เอาก้นไถพื้น) ทั้งนี้สัตว์แต่ละตัวมีความทนทานต่อของเสียที่พยาธิปล่อยออกมาไม่เท่ากัน สัตว์อาจมีอาการผอม ไม่มีแรง หรือความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารได้ เช่น ท้องเดิน ปวดท้อง บางกรณีอาจพบอาการทางระบบประสาท เช่น มีอาการชัก หรืออาการคล้ายเป็นอัมพาต

การป้องกัน พยายามกำจัดหมัดบนตัวสุนัขและแมว เพื่อเป็นการตัดวงจรการติดโรค


พยาธิตัวกลม (Roundworms) พยาธิตัวกลมที่สำคัญมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ พยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ พยาธิแส้ม้า พยาธิตัวจี๊ด และพยาธิหลอดอาหาร


พยาธิไส้เดือน (Ascarids)

พยาธิกลุ่มนี้พบได้บ่อยโดยเฉพาะในลูกสัตว์ และมีความสามารถในการก่อโรคในเด็กได้ด้วย เนื่องจากตัวอ่อนพยาธิจะชอนไชไปได้ทั่วร่างกาย และอาจก่อโรคในอวัยวะต่างๆ ที่ตัวอ่อนผ่านไปได้ พยาธิไส้เดือนที่สำคัญสองชนิด ได้แก่ Toxocara canis (พบในสุนัข) และ Toxocara cati (พบในแมว)

ลูกสุนัขและแมวเกือบทุกตัวมีโอกาสเสี่ยง ลูกสัตว์สามารถรับเชื้อจากแม่ได้ตั้งแต่ยังอยู่ในมดลูกของแม่ ช่วงเลี้ยงลูก รวมไปถึงผ่านการปนเปื้อนอุจจาระ ตัวอ่อนจะชอนไชผ่านอวัยวะภายใน ไอออกมาจากทางเดินหายใจ กลืนลงไปในระบบทางเดินอาหาร และเจริญเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้เล็ก สัตว์บางชนิดเช่นหนู อาจติดเชื้อโดยการกินไข่พยาธิเข้าไป และติดเข้าสู่สุนัขและแมวเมื่อถูกกิน หากตัวอ่อนเข้าสู่สุนัขที่มีอายุมากกว่า 3 เดือน ตัวอ่อนมักไปอยู่ตามอวัยวะต่างๆ จะหยุดการเจริญเติบโตชั่วคราว จนกระทั่งสัตว์ตั้งท้อง ตัวอ่อนจะถูกกระตุ้นให้เจริญขึ้นอีกครั้ง และเข้าไปเจริญอยู่ในตัวอ่อนในมดลูก

สัตว์ที่มีความเสี่ยง สัตว์อายุน้อย

อาการ ที่พบได้บ่อยคือ ช่องท้องที่ขยายใหญ่และท้องเสีย อาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น อาเจียน อ่อนแรง และเบื่ออาหาร อาจมีบางตัวที่ไม่แสดงอาการใดๆ เลย การติดปรสิตชนิดนี้จำนวนมากสามารถก่อให้เกิดการอุดตันของลำไส้ได้ ในลูกสัตว์ที่มีตัวอ่อนไชผ่านทางเดินหายใจจำนวนมากจะก่อให้เกิดการไอ เป็นไข้ มีน้ำมูก และปอดบวมได้

การป้องกัน มุ่งเน้นถึงความสะอาดของสถานที่เลี้ยง ถ่ายพยาธิสุนัขเป็นประจำโดยเฉพาะแม่สุนัขก่อนคลอดและลูกสุนัขหลังคลอดภายใน 2 สัปดาห์


พยาธิปากขอ (Hookworms)

พยาธิปากขออาศัยอยู่ในลำไส้เล็กและดูดเลือดของสัตว์ เป็นอาหาร สามารถก่อโรคได้ตั้งแต่ไม่แสดงอาการไปจนถึงเสียชีวิตได้เนื่องจากโลหิตจางและโปรตีนในเลือดต่ำ       

ตัวอ่อนของพยาธิปากขอสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อม และติดเข้าสู่สุนัขและแมวโดยการกิน นอกจากนี้ตัวอ่อนสามารถไชผ่านผิวหนังเข้าไปสู่ระบบร่างกาย และเจริญเป็นตัวเต็มวัยในลำไส้เล็ก ลูกสัตว์สามารถติดจากแม่ได้ตั้งแต่อยู่ในท้องและอาจติดได้ในช่วงเลี้ยงลูกด้วย (ผ่านทางน้ำนมและสิ่งแวดล้อม) ตัวอ่อนของพยาธิปากขออาจไปอาศัยในสัตว์อื่นได้ เช่น หนู และกลายเป็นแหล่งก่อโรคใหม่ในอนาคต

สัตว์ที่มีความเสี่ยง  สัตว์อายุน้อย และสัตว์อายุมาก ที่เลี้ยงในพื้นที่จำกัดและมีความชื้นสูง

อาการ สุนัขและแมวที่มีปัญหาพยาธิปากขอมักจะแสดงอาการป่วยชัดเจนกว่าพยาธิอื่นๆ โดยเฉพาะสุนัข ได้แก่ อ่อนแรง อ่อนแอ ขนกระด้าง แคระแกร็น ท้องเดิน อุจจาระสีดำ และท้องเสียมีกลิ่นคาว ในกรณีที่ติดพยาธิปริมาณมากและมีความรุนแรงจะพบภาวะโลหิตจางอย่างเฉียบพลัน โดยเฉพาะลูกสัตว์และสัตว์ที่อายุมาก ตัวอ่อนสามารถก่อโรคบริเวณผิวหนังได้เมื่อไชผ่านไป เช่น บริเวณเท้า อย่างไรก็ตามพบว่าสุนัขสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อพยาธิได้เมื่ออายุ 8 – 11 เดือน

การป้องกัน รักษาความแห้งและสะอาดของพื้นที่เลี้ยงอยู่เสมอ อาจใช้สารเคมีในการล้างพื้นร่วมด้วย ไม่ควรเลี้ยงสุนัขอายุมากและลูกสุนัขไว้ด้วยกัน หมั่นถ่ายพยาธิอยู่เสมอทุก 3 เดือน ในแม่สุนัขควรมีการถ่ายพยาธิก่อนคลอด และมีการถ่ายพยาธิให้ลูกสุนัขเมื่ออายุ 1-2 สัปดาห์ และหลังจากนั้น 2 สัปดาห์ อีกครั้งหนึ่ง


พยาธิแส้ม้า (Whipworms)

พยาธิแส้ม้าเป็นพยาธิอีกชนิดหนึ่งที่ดูดเลือดจากสัตว์เป็นอาหารซึ่งอาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ส่วน caecum เป็นพยาธิที่ก่อโรคได้รุนแรงเหมือนพยาธิปากขอและอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้จากภาวะโลหิตจางและโปรตีนในเลือดต่ำ

พยาธิโตเต็มวัยเพศเมียจะวางไข่ออกมากับอุจจาระ ซึ่งไข่สามารถทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมจนกว่าจะอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม (25-34 องศาเซลเซียส) จากนั้นใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จะกลายเป็นไข่ระยะติดต่อ แล้วติดเข้าสู่สัตว์ด้วยการกิน และใช้เวลา 3 เดือนในการพัฒนาไปเป็นตัวเต็มวัย

สัตว์ที่มีความเสี่ยง สัตว์เลี้ยงทุกวัย

อาการ มักไม่แสดงอาการ แต่หากมีพยาธิจำนวนมากก็อาจก่อให้เกิดการอักเสบของกระเปาะลำไส้ใหญ่ (caecum) ได้อย่างรุนแรงและเรื้อรัง อาการอื่นๆ ที่พบได้ เช่น ท้องเสียเรื้อรัง โลหิตจาง น้ำหนักลด และอาจเสียชีวิตได้

การป้องกัน ดูแลความสะอาดของพื้นที่อยู่อาศัย จัดการด้านสุขอนามัย และถ่ายพยาธิเป็นประจำ

 

พยาธิตัวจี๊ด (Gnathostoma spinigerum)

พยาธิตัวจี๊ด เป็นพยาธิที่อาศัยอยู่ที่กระเพาะอาหารเป็นหลัก และอาจก่อให้เกิดเนื้องอกของกระเพาะอาหาร รวมทั้งโรคอื่นๆ จากการชอนไชของตัวอ่อนได้ แต่พยาธิชนิดนี้พบได้ไม่มากนัก

ตัวเต็มวัยของพยาธิตัวจี๊ดจะอาศัยอยู่เป็นกลุ่มในก้อนเนื้องอกในกระเพาะอาหาร แล้วปล่อยไข่ออกมาตามช่องเปิดเล็กๆ เข้าสู่ทางเดินอาหาร และออกมากับอุจจาระ ใช้เวลาประมาณ 9 วัน จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน เข้าไปอาศัยอยู่ในพวกไรน้ำโดยการกิน เมื่อสัตว์น้ำพวกปลาน้ำจืด กบ หนู ฯลฯ กินจะไปอาศัยในสัตว์เหล่านั้น รวมทั้งสามารถสร้างถุงน้ำ (cyst)ได้ จนกระทั่ง สุนัขและแมวมากินเข้าไปอีกครั้งหนึ่ง

สัตว์ที่มีความเสี่ยง สัตว์ที่เลี้ยงปล่อย และอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ

อาการ การชอนไชของตัวอ่อนไปตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกายสามารถสร้างความเสียหายได้ทั้งสิ้น แต่ตัวอ่อนที่ไปถึงกระเพาะอาหารจะฝังตัวในกระเพาะ สร้างโพรงทำให้เกิดการอักเสบเป็นเวลานาน และกลายเป็นเนื้องอกขึ้น อาการอื่นๆ ที่พบ ได้แก่ ผื่นตามผิวหนัง ไข้สูง บวมน้ำใต้ผิวหนัง หรือการอาเจียน

การป้องกัน หลีกเลี่ยงการให้สัตว์ได้มีโอกาสทานอาหารดิบ     


พยาธิหลอดอาหาร (Spirocerca lupi)

พยาธิหลอดอาหารจะอาศัยอยู่ที่หลอดอาหารของสุนัขและแมว สามารถพบได้บ่อยในประเทศไทย ตัวเต็มวัยจะขดตัวอยู่ในก้อนเนื้องอกของหลอดอาหาร

ตัวเต็มวัยที่อาศัยอยู่ในหลอดอาหารจะปล่อยไข่ออกไปกับอุจจาระและเศษอาเจียนของสัตว์ จากนั้นแมลงปีกแข็งที่อาศัยสิ่งปฏิกูลเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นผู้ให้อาศัยกึ่งกลางกับตัวอ่อนจนเจริญกลายเป็นระยะติดต่อ และผ่านเข้าไปสร้าง cyst อยู่ในสัตว์ที่กินแมลงเหล่านี้ เช่น กบ ก่อนจะเข้าสู่สุนัขและแมวต่อไป ตัวอ่อนจะฟักออกมาในกระเพาะอาหารของสัตว์ แล้วไชทะลุไปอยู่ในหลอดเลือด เติบโตอยู่ในผนังเส้นเลือดแล้วย้ายไปอาศัยอยู่ในหลอดอาหารโดยการไชทะลุเนื้อเยื่อแล้วเกิดเป็นก้อนเนื้อขึ้นล้อมรอบตัวพยาธิไว้ ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน

สัตว์ที่มีความเสี่ยง สัตว์ที่เลี้ยงอยู่ในพื้นที่มีแมลงปีกแข็งมาก

อาการ เมื่อสุนัขมีก้อนเนื้อเกิดขึ้นที่หลอดอาหาร จะทำให้พบอาการกลืนลำบาก อาเจียน ผอม ไม่มีแรง นอกจากนี้ เนื้อเยื่อที่พยาธิเหล่านี้ไปอาศัยตัวอยู่ก็อาจเสียหายได้ เช่นหลอดอาหารแตก ทำให้เศษอาหารหลุดออกมานอกทางเดินอาหาร และเกิดการอักเสบ รวมไปถึงผนังหลอดเลือดใหญ่ที่อาจจะแตก และทำให้สัตว์เสียเลือดและตายได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามสัตว์บางตัวอาจไม่แสดงอาการใดเลย

การป้องกัน รักษาสุขลักษณะ เลี่ยงการให้สัตว์กินอาหารดิบ กำจัดแมลง และแยกสุนัขที่มีพยาธิออกจากตัวอื่น ๆ


เนื่องจากความชุกของปรสิตหนอนพยาธิเหล่านี้มีสูง และสามารถพบได้บ่อยในสุนัขและแมว ซึ่งบางครั้งสัตว์เลี้ยงของเราก็ไม่แสดงอาการให้เห็น ดังนั้นสุนัขและแมวควรได้รับการตรวจอุจจาระและถ่ายพยาธิเป็นประจำปีละสองครั้ง (ทุก 6 เดือน) หรือมากกว่าในกรณีเป็นการเลี้ยงแบบปล่อย เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคเกี่ยวกับพยาธิเหล่านี้ได้นะครับ

ภาพ: sheppardsoftware, wikiHow,npr,Wikipedia

ดูและเลือกซื้อสินค้าของเราได้ที่นี่ CLICK เลย

แชร์บทความนี้...

Vetbasket

คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้ด้วย...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *