“น้องถูกสร้างมาเพื่อเรา” ลูกสุนัขมีพันธุกรรมที่ทำให้พร้อมสื่อสารกับมนุษย์ได้ตั้งแต่แรกเกิด

“น้องถูกสร้างมาเพื่อเรา” ลูกสุนัขมีพันธุกรรมที่ทำให้พร้อมสื่อสารกับมนุษย์ได้ตั้งแต่แรกเกิด

BBCไทย เผยแพร่ : 6 มิถุนายน 2021

ภาพปก : GETTY IMAGES

คำกล่าวที่ว่า “สุนัขคือเพื่อนแท้ของมนุษย์” ขณะนี้กินความหมายลึกซึ้งยิ่งกว่าเดิมขึ้นไปอีกขั้น เมื่อทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแอริโซนาของสหรัฐฯ พบว่า ความสามารถของสุนัขในการมีปฏิสัมพันธ์และสื่อสารกับมนุษย์ได้อย่างเข้าอกเข้าใจนั้น มาจากพันธุกรรมที่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อหมาแม่หมาเป็นหลัก

พันธุกรรมหรือดีเอ็นเอในแบบดังกล่าว เกิดขึ้นจากการคัดเลือกนานหลายพันปีของมนุษย์ เพื่อเพาะพันธุ์สุนัขบ้านที่เป็นมิตรและสามารถใช้งานได้ ทำให้ลูกสุนัขที่เกิดมาในยุคปัจจุบัน มีความสามารถในการสื่อสารกับคนโดยอัตโนมัติตั้งแต่เพิ่งลืมตาดูโลกได้ไม่นาน โดยไม่ต้องผ่านการเรียนรู้จากมนุษย์ผู้ฝึกสอนเสียก่อน

รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology ระบุว่า มีการทดสอบทักษะการสื่อสารของลูกสุนัขอายุ 8 สัปดาห์ จำนวน 375 ตัว โดยลูกสุนัขทั้งหมดเป็นสายพันธุ์โกลเดนรีทรีฟเวอร์และลาบราดอร์ ที่ได้รับคัดเลือกให้นำไปฝึกเป็นสุนัขนำทางและช่วยเหลือผู้พิการในอนาคต

ลูกสุนัขเหล่านี้อยู่ในวัยอ่อนที่สุดที่สามารถจะใช้อาหารเข้าล่อให้ทำตามคำสั่งได้ อย่างไรก็ตาม พวกมันยังไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวกับมนุษย์มาก่อน และมีประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกับมนุษย์น้อยมาก

ในการทดลอง 4 แบบ ซึ่งในแบบแรกนักวิจัยได้ชี้ไปยังถ้วยที่คว่ำอยู่ใบหนึ่งในจำนวน 2 ใบ เพื่อบอกลูกสุนัขว่ามีอาหารอยู่ในนั้น ผลปรากฏว่าหมาน้อยเกือบ 70% สามารถมองตามมือของนักวิจัย และค้นพบอาหารในถ้วยใบที่ถูกต้องได้ โดยไม่ต้องใช้การดมกลิ่นเข้าช่วย

GETTY IMAGES

ในการทดลองแบบที่สองซึ่งคล้ายกับวิธีแรก นักวิจัยเปลี่ยนจากการชี้มือมาเป็นการนำกล่องสีเหลืองไปวางข้างถ้วยใบที่มีอาหาร ซึ่งก็ปรากฏว่าวิธีบอกใบ้นี้สามารถสื่อสารกับลูกสุนัขได้ถูกต้อง ในอัตราที่สูงพอกันกับวิธีการชี้มือ

ในการทดลองแบบที่สาม นักวิจัยได้พูดคุยกับลูกสุนัขโดยใช้ “เสียงสอง” หรือเสียงแหลมออดอ้อนแบบที่มนุษย์พูดกับทารกหรือสัตว์ที่น่าเอ็นดู แล้วจับเวลาว่าลูกสุนัขมองหน้าให้ความสนใจกับคนในขณะที่กำลังพูดอยู่นานเท่าใด ซึ่งผลการทดลองครั้งนี้พบว่า ลูกสุนัขทุกตัวใช้เวลาโดยเฉลี่ยมองหน้าคนอยู่นานกว่า 6 วินาทีขึ้นไป อันแสดงถึงความเข้าใจว่าคนกำลังทำการสื่อสารกับมันอยู่

เมื่อนำข้อมูลจากผลการทดลองทั้ง 3 แบบข้างต้น มาคำนวณเปรียบเทียบกับประวัติของสายพันธุ์หรือเพ็ดดีกรี (pedigree) ของลูกสุนัขเหล่านี้ พบว่าปัจจัยทางพันธุกรรมมีผลต่อความสามารถในการสื่อสารทำความเข้าใจกับมนุษย์มากถึง 43% ทำให้พวกมันเกิดมาเข้าใจสัญญาณต่าง ๆ ที่คนสื่อถึงมันแทบจะในทันที ทั้งที่ยังไม่เคยได้เรียนรู้มาก่อน

การทดลองแบบที่ 4 ซึ่งเป็นแบบสุดท้าย ทดสอบว่าลูกสุนัขจะมองขอความช่วยเหลือจากนักวิจัยหรือไม่ เมื่อไม่สามารถเปิดกล่องเอาอาหารที่บรรจุอยู่ข้างในออกมาได้ ซึ่งผลปรากฏว่าพวกมันแทบไม่หันมามองขอความช่วยเหลือเลย อันเป็นพฤติกรรมที่ไม่ต่างไปจากสุนัขป่า หรือแม้กระทั่งทารกที่อยู่ในวัยเดียวกัน

“พวกมันเข้าใจสัญญาณมือและการบอกใบ้ของมนุษย์ได้ในครั้งแรกโดยไม่ต้องสอน แต่กลับไม่รู้จักวิธีสื่อสารขอความช่วยเหลือ” ดร. เอมิลี เบรย์ ผู้นำทีมวิจัยกล่าว “แสดงว่าลูกสุนัขที่เพิ่งเกิดได้ไม่นาน สามารถรับและทำความเข้าใจได้แต่เพียงสัญญาณที่มนุษย์ส่งมา แต่ยังไม่อาจจะเป็นฝ่ายริเริ่มส่งสัญญาณการสื่อสารออกไปก่อน”

“ความรู้ที่ได้จากผลการศึกษาของเราในครั้งนี้ จะช่วยให้การคัดเลือกพันธุ์สุนัขโดยคำนึงถึงความสามารถในการสื่อสารที่อยู่ในสายเลือด มีความสำคัญเพิ่มขึ้นในอนาคต”


ดูเรื่องต้นฉบับ

แชร์บทความนี้...

Vetbasket

คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้ด้วย...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *