นักวิทยาศาสตร์แนะนำเทคนิค “กะพริบตาช้า ๆ” ช่วยผูกมิตรกับแมว

นักวิทยาศาสตร์แนะนำเทคนิค “กะพริบตาช้า ๆ” ช่วยผูกมิตรกับแมว

BBC ไทย : เผยแพร่ 12 ตุลาคม 2020

ภาพปก : GETTY IMAGES

หลายคนอาจมีความรู้สึกว่าแมวเป็นสัตว์รักสันโดษ และมีนิสัยเจ้าอารมณ์จึงทำให้ผูกมิตรด้วยได้ยาก แต่ผลการศึกษาล่าสุดของทีมนักวิทยาศาสตร์จากอังกฤษได้พบว่าการ “กะพริบตาช้า ๆ” เป็นการ “ส่งยิ้มแบบแมว” หรือการสื่อภาษากาย เพื่อสื่อสารเชิงบวกและช่วยเสริมสร้างมิตรภาพกับเหล่าแมวเหมียว

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัท และมหาวิทยาลัยซัสเซกส์ ตีพิมพ์ผลการศึกษาชิ้นนี้ในวารสาร Scientific Reports โดยระบุว่า การกะพริบตาอย่างเชื่องช้าให้แมว ในลักษณะคล้ายกับการหรี่ตาเวลาที่เรายิ้ม จากนั้นก็หลับตาค้างไว้ประมาณ 2-3 วินาที เป็นการเลียนแบบพฤติกรรมของแมวเวลาที่พวกมันต้องการแสดงความเป็นมิตร เทียบเท่ากับการยิ้มของมนุษย์

ทีมนักวิจัยศึกษาเรื่องนี้โดยการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของแมว 21 ตัว ที่เป็นสัตว์เลี้ยงของอาสาสมัคร 14 ครอบครัว แล้วสอนการกะพริบตาอย่างช้า ๆ ที่ถูกต้องให้แก่บรรดาเจ้าของ

ผลที่ได้พบว่า แมวมักกะพริบตาช้า ๆ เป็นการ “ส่งยิ้มแบบแมว” ตอบโต้กับเจ้าของ หลังจากที่เจ้าของกะพริบตาอย่างเชื่องช้าให้พวกมัน

นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังทำการทดลองที่สองกับแมวตัวอื่นอีกจำนวน 24 ตัว โดยให้คนแปลกหน้ากะพริบตาช้า ๆ ให้แมว แล้วค่อยยื่นมือออกไปหาพวกมัน

ผลปรากฏว่า แมวมักจะเข้าหาและมีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขามากกว่า เมื่อเทียบกับตอนที่พวกเขาทำหน้าตาเรียบเฉย แล้วยื่นมือไปหาแมว

ทีมนักวิจัยชี้ว่า นี่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการกะพริบตาช้า ๆ เป็นรูปแบบหนึ่งของ “การสื่อสารเชิงบวก” ของแมว

squinting-cat.
GETTY IMAGES

ศาสตราจารย์คาเรน แม็คโคมป์ หนึ่งในทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยซัสเซกส์ กล่าวว่า “มันเป็นอะไรที่คุณสามารถทดลองด้วยตัวเองกับแมวที่บ้านหรือแมวที่คุณพบเจอตามท้องถนน และมันเป็นวิธีอันยอดเยี่ยมในการที่คุณจะผูกสัมพันธ์กับแมว”

“ลองหรี่ตาใส่แมว แบบเดียวกับเวลาที่คุณยิ้มอย่างผ่อนคลาย จากนั้นหลับตาค้างไว้ 2-3 วินาที แล้วคุณจะพบว่าพวกมันจะตอบสนองกลับแบบเดียวกัน และพวกคุณก็จะสามารถเริ่มต้นการสื่อสารกันในอีกรูปแบบหนึ่ง”

ขณะที่ ดร.ทาสมิน ฮัมฟรีย์ นักวิทยาศาสตร์ด้านพฤติกรรมสัตว์จากมหาวิทยาลัยซัสเซกส์ หัวหน้าทีมวิจัยชิ้นนี้ อธิบายว่า การที่แมวแสดงการกะพริบตาช้า ๆ อาจเป็นเพราะมนุษย์เรามองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นพฤติกรรมเชิงบวก

“แมวอาจเรียนรู้ว่ามนุษย์ให้รางวัลแก่พวกมันเวลาที่มันกะพริบตาช้า ๆ”

นอกจากนี้ ดร.ฮัมฟรีย์ ยังสันนิษฐานว่า “เป็นไปได้ว่าการที่แมวกะพริบตาช้า ๆ อาจเป็นวิธีในการหยุดจ้องตาอีกฝ่ายนาน ๆ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างกัน”

นักวิจัยหวังว่า ผลการศึกษาชิ้นนี้จะช่วยให้คนเราเข้าใจพฤติกรรมและอารมณ์ของแมวได้ดีขึ้น

“ผลการค้นพบของเราอาจนำไปใช้ในการประเมินสวัสดิภาพของแมวในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เช่น ในการตรวจรักษาของสัตวแพทย์ หรือตามสถานสงเคราะห์สัตว์” ดร.ฮัมฟรีย์ กล่าว


ดูเรื่องต้นฉบับ

แชร์บทความนี้...

Vetbasket

คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้ด้วย...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *