ไวรัสโคโรนา: คนรักสัตว์ควรทำอย่างไร เมื่อเพื่อนตัวน้อยอาจติดเชื้อโรคโควิด-19-BBCไทย

ไวรัสโคโรนา: คนรักสัตว์ควรทำอย่างไร เมื่อเพื่อนตัวน้อยอาจติดเชื้อโรคโควิด-19-BBCไทย

เผยแพร่: 05 มีนาคม 2020

ข่าวร้ายที่คนรักสัตว์ต่างหวาดหวั่นกันมาหลายวัน ได้รับการยืนยันว่าเป็นความจริงแล้ว เมื่อทางการของเขตปกครองพิเศษฮ่องกงออกมาแถลงว่า สุนัขของคนไข้โรคโควิด-19 รายหนึ่งได้ติดเชื้อไปจากเจ้าของ ตามที่มีการสันนิษฐานไว้ก่อนหน้านี้

เหตุดังกล่าวถือเป็นหลักฐานกรณีแรกที่ยืนยันว่า มีความเป็นไปได้ที่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะแพร่จากมนุษย์ไปสู่สัตว์ โดยสุนัขพันธุ์พอเมอเรเนียนหรือ “ปอม” ตัวดังกล่าวมีการติดเชื้อในระดับต่ำ โดยตัวมันเองไม่มีอาการป่วยใด ๆ ปรากฏให้เห็น และผู้เชี่ยวชาญคาดว่ามันจะไม่สามารถแพร่เชื้อต่อให้กับคนหรือสัตว์ด้วยกันได้

ก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เข้ามาตรวจสอบกรณีดังกล่าว โดยเชื่อว่าผลตรวจหาเชื้อที่เป็นบวกเพียงเล็กน้อยของสุนัขตัวนี้ อาจเป็นเพียงร่องรอยการสัมผัสกับพื้นผิวที่มีการปนเปื้อนเท่านั้น ซึ่งอาจจะยังไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อในร่างกายขึ้น และที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยพบกรณีที่บ่งชี้ได้ชัดเจนว่า สัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขหรือแมวสามารถติดเชื้อไวรัสโคโรนาอย่างที่พบในมนุษย์ได้

แต่อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจยืนยันครั้งที่สองและสามกลับพบว่าสุนัขติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้จริง ซึ่งข่าวนี้สร้างความวิตกกังวลให้กับบรรดาคนรักสัตว์อย่างใหญ่หลวง ในเรื่องของมาตรการป้องกันตนเองและเพื่อนรักตัวน้อยไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการแพร่ระบาดรายต่อไป

GETTY IMAGES

มาตรการป้องกันโรคเพื่อคน – เพื่อสัตว์

สำนักงานการเกษตร ประมง และการอนุรักษ์ของฮ่องกง ได้ออกคำแนะนำสำหรับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ให้อย่าตื่นตระหนกหรือวิตกกังวลมากจนเกินไป ทั้งไม่ควรทอดทิ้งหรือนำสัตว์เลี้ยงไปปล่อย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์หรือกรณีใดก็ตาม

“เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรรักษาสุขอนามัยให้ดี ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังการเข้าใกล้หรือสัมผัสกับตัวสัตว์ รวมทั้งอาหารและของใช้ของพวกมันด้วย” สำนักงานการเกษตร ประมง และการอนุรักษ์ของฮ่องกงระบุ “หลีกเลี่ยงการจูบสัตว์เลี้ยง รักษาสภาพแวดล้อมภายในบ้านเรือนให้สะอาดถูกสุขลักษณะอยู่เสมอ”

“ผู้ที่มีอาการป่วยควรงดเว้นการสัมผัสจับต้องตัวสัตว์ หากพบว่าพวกมันมีอาการป่วยหรือความผิดปกติอื่นใด ควรแจ้งและปรึกษาสัตวแพทย์โดยด่วนที่สุด”

“สำหรับสุนัขตัวที่พบว่าติดเชื้อโรคโควิด-19 ทางการได้กักบริเวณไว้แล้ว และจะยังคงตรวจหาเชื้อซ้ำอีกหลายครั้ง จนกว่าผลการตรวจจะเป็นลบ เมื่อมั่นใจว่าสุนัขปลอดจากเชื้อไวรัสดังกล่าวแล้ว จึงจะสามารถส่งมันคืนให้เจ้าของได้”

ขณะนี้ทางการฮ่องกงได้กักกันสุนัขไว้แล้ว 2 ตัว รวมทั้งตัวที่ยืนยันการติดเชื้อข้างต้น ตามมาตรการที่ประกาศใช้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งกำหนดให้สัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ต้องถูกกักบริเวณเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน

GETTY IMAGES
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ผู้ต้องสงสัยติดเชื้องดเว้นการกอดจูบสัตว์เลี้ยง

สัตว์ติดเชื้อ แต่ยังไม่ใช่พาหะแพร่เชื้อ

ด้านองค์กรพิทักษ์และช่วยเหลือสัตว์จำนวนมาก ต่างแสดงความกังวลว่ากรณีการติดเชื้อโรคโควิด-19 ของสุนัขตัวนี้ จะทำให้มีสัตว์เลี้ยงถูกทิ้งขว้าง ถูกทำร้าย หรือแม้กระทั่งถูกฆ่ากำจัดมากขึ้น

สมาคมเพื่อการปกป้องสัตว์แห่งฮ่องกงออกมาแถลงเน้นย้ำว่า “สุนัขที่เป็นข่าวมีการติดเชื้อในระดับต่ำ ซึ่งสังคมต้องแยกแยะให้ได้ว่าการติดเชื้อกับการเป็นพาหะแพร่เชื้อนั้นแตกต่างกัน สุนัขตัวนี้ไม่มีอาการป่วยเลยและยังแข็งแรงดีทุกอย่าง”

EPA
(ภาพจากแฟ้มภาพ) สุนัขตัวที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโรคโควิด-19 เป็นพันธุ์ “ปอม” หรือพอเมอเรเนียน

องค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH / OIE) เคยชี้แจงไว้ว่า ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ ที่ยืนยันว่าสัตว์เลี้ยงสามารถล้มป่วยและกลายเป็นพาหะแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ แม้ในการระบาดของโรคซาร์ส (SARS) เมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน ก็ไม่พบกรณีการติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงแต่อย่างใด แม้เชื้อไวรัสโคโรนาทั้งสองชนิดจะมีความคล้ายคลึงกันทางพันธุกรรมมากก็ตาม

ด้านสมาคมสัตวแพทย์อเมริกัน (AVMA) แถลงยืนยันอีกเสียงหนึ่งว่า ยังไม่พบความเสี่ยงที่สัตว์เลี้ยงทั่วไปจะติดเชื้อหรือกลายเป็นตัวแพร่กระจายไวรัสโรคโควิด-19 แต่ในขณะเดียวกัน เจ้าของสัตว์เลี้ยงที่เข้าข่ายต้องสงสัยว่าติดเชื้อ จะต้องเพิ่มมาตรการดูแลสัตว์เลี้ยงของตนเป็นพิเศษ โดยล้างมือทั้งก่อนและหลังการสัมผัสหรือให้อาหารสัตว์ หลีกเลี่ยงการกอดจูบ และระวังไม่ให้สัตว์เลี้ยงเข้าประชิดตัวผู้คนและสัตว์อื่น ๆ ภายนอกบ้านด้วย

สัตวแพทย์หญิง เจน เกรย์ หัวหน้าสัตวแพทย์ของสมาคมป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ (SPCA) ของฮ่องกงบอกว่า “มาตรการป้องกันบางอย่าง เช่นการให้หมาแมวใส่หน้ากากอนามัยนั้นไม่มีประโยชน์อะไร แต่เจ้าของสัตว์เลี้ยงที่มีความกังวลอาจรักษาความสะอาดให้พวกมันมากขึ้น เช่นใช้ทิชชูเปียกหรือกระดาษชุบแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อเช็ดที่ฝ่าเท้า หากสัตว์เลี้ยงออกไปเดินเล่นนอกบ้าน”

“การดูแลความสะอาดหรือป้องกันโรคให้สัตว์เลี้ยง ไม่ควรทำอย่างเข้มงวดหรือทำบ่อยครั้งจนเกินไป เพราะจะทำให้พวกมันเครียดและมีอาการตื่นตระหนกได้”


คำแนะนำจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตร

วันที่ 5 มี.ค. นพ. โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวถึงการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัขและแมวว่า คำแนะนำเบื้องต้นคือ ถ้าเจ้าของหรือสมาชิกในบ้านมีอาการป่วย ให้แยกสัตว์เลี้ยงและผู้ป่วยออกจากกันอย่างเด็ดขาดเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ

“แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะติดต่อได้ง่าย และรายงานในฮ่องกงเพิ่งจะเป็นกรณีแรก ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง ถ้ามีข้อสงสัยให้ปรึกษาสัตวแพทย์ และมีการเตรียมความพร้อมในการตรวจสัตว์ที่สงสัยว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่” นพ.โสภณกล่าว

ขณะที่เมื่อวันที่ 29 ก.พ. คณะสัตว์แพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เผยแพร่ข้อมูลคำแนะนำเกี่ยวกับโรคโควิด-19 และสุนัขและแมว ดังนี้

  • ผู้สงสัยว่าป่วยเป็นโรคโควิด-19 ควรจำกัดและลดการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงและสัตว์อื่น ๆ เช่นเดียวกับการจำกัดตัวเองออกจากคนอื่น ๆ กรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ย่งการสัมผัสสัตว์ได้ ควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ ทั้งก่อนและหลังสัมผัสสัตว์เลี้ยงและผู้ป่วย และผู้ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัยขณะสัมผัสสัตว์เลี้ยง
  • ถ้าสัตว์เลี้ยงมีอาการป่วยไม่ทราบสาเหตุและสัมผัสกับผู้ป่วยโควิด-19 มาก่อน ควรแจ้งสัตวแพทย์ที่คลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ เพื่อให้สัตวแพทย์ทราบประวัติว่าสัตว์ที่ป่วยมีการสัมผัสกับผู้ป่วย จะได้เตรียมการและสถานที่เฉพาะให้สัตว์เลี้ยง
  • กรณีที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงป่วยด้วยโรคโควิด-19 ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยงในบ้านทั้งการกอด หอมและจูบสัตว์เลี้ยงหรือให้สัตว์เลี้ยงเลียหน้า หรือให้อาหารของผู้ป่วยกับสัตว์เลี้ยง ถ้าหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ไม่ได้ ควรล้างมือด้วยสบู่ก่อนและหลังจากสัมผัสสัตว์และควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง

ภาพปก: EPA

ข่าวต้นฉบับ

แชร์บทความนี้...

Vetbasket

คุณอาจสนใจเรื่องเหล่านี้ด้วย...

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *